เมื่อแบรนด์ดังจากนอกเข้ามาตี … ชุดสตรีอาหรับเร่ิมเปรี้ยว … แฟชั่นอาหรับ (Arabic Fashion) จะไปทางไหน ?
หากคุณมองดูแฟชั่นของชาวอาหรับผู้เคร่งครัดในขนบประเพณีดั้งเดิมเพียงแวบเดียวแล้วรีบสรุปทันทีว่าแฟชั่นอาหรับไม่มีอะไรมากไปกว่าสูตรสำเร็จแบบเดิมๆที่ว่า “ผู้ชายต้องสวมชุดขาว ส่วนผู้หญิงต้องสวมชุดดำ” ก็คงจะไม่มีใครว่าอะไรคุณได้
เสื้อผ้าของชาวอาหรับก็คือ ภาพสะท้อนของสภาพแวดล้อมกับวัฒนธรรมที่เป็นต้นกำเนิดของพวกเขา ทั้งสภาพอากาศรุนแรงแบบทะเลทรายเป็นตัวกำหนดว่าเขาจะต้องปกปิดส่วนต่างๆของร่างกายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องตนเองให้พ้นจากอันตรายของแสงแดดจัดนั่นเอง
ในภาษาอาหรับ คำว่า “อาบายา” (Abaya) ซึ่งแปลว่า “การปกปิด” หมายถึงเสื้อคลุมตัวยาวสีดำที่ใช้กันทั้งผู้ชายและผู้หญิง การปกปิดศีรษะก็เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับทั้งชายและหญิงเช่นกัน
การออกนอกบ้านโดยไม่สวมอะไรปกคลุมศีรษะนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะแสงแดดจัดแล้ว สำหรับคนบางกลุ่มยังถือว่าเป็นการกระทำที่น่าละอายอีกด้วย
ชุดอาบายาของฝ่ายหญิงกลับเปลี่ยนไปมาก
ทุกวันนี้จะเห็นได้ชัดว่า ชุดอาบายาของผู้หญิงอาหรับได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมต่างชาติมาไม่น้อยทีเดียว ในอดีตชุดอาบายามีเพียงแบบเดียว สีเดียวสำหรับผู้หญิงทุกคน แต่ปัจจุบันชุุดอาบายาได้ถูกดัดแปลงให้มีทางเลือกเพื่อแสดงความเป็นตัวตนของผู้สวมใส่หลากหลายรูปแบบ เรียกว่ามีดีไซน์ใหม่ๆ ให้เลือกใส่กันนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว
ชุดอาบายายุคใหม่มีทั้งดีไซน์แบบตัวหลวม เข้ารูป รัดรูป แขนกว้าง หรือ แขนสอบ ฯลฯ ส่วนใครจะเลือกใส่แบบไหนก็ขึ้นกับบคุลิกของผู้สวมใส่เองว่าจะ “แรง” หรือ “ใจกล้า” เพียงใดคุณอาจเลือกชุดอาบายาที่ตัดเย็บจากผ้าเนื้อโปร่งใส แบบซีทรู หรือชุดที่ประดับประดาอย่างอลังการด้วยขนนก ขนสัตว์ ลูกปัดหรือแก้วคริสตัล หรือจะตัดชายให้สั้นขึ้น เพื่อโชว์เรียวขาสักนิดก็ยังได้ ชุดอาบายาบางชุดอาจมีสีเข้มๆ มืดๆ อย่างพวกสี้น้ำตาล สีน้ำเงิน หรือ สีเขียวเข้มไปจนถึงสีสันสดใส มีลวดลายประดับเลื่อมแพรวพราวก็ได้
ผู้หญิงวัยรุ่นอาหรับบางคนใส่ชุดอาบายาแบบตอกหมุดสไตล์ฟังก์ร็อกจนผู้หลักผู้ใหญ่ถึงกลับอึ้งไปเลยก็มีรานี เคาเกอร์ (Rani Khaoger) ชาวซาอุฯ และ ลามยา อเบดิน (Lamya Abedin) ชาวเอมิเรตส์ คือ ตัวอย่างดีไซเนอร์ชาวอาหรับที่ประสบความสำเร็จในการผสมผสานสไตล์ตะวันตกเข้าไปในผลงานดีไซน์ชุดอาบายาแบรนด์ของตัวเอง
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุดอาบายาของผู้หญิงที่บางคนอาจเรียกว่า “การปฏิวัติอาบายา” (Abaya Revolution) ก็ทำให้เกิดข้อโต้แย้งจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
ชาวอาหรับหัวโบราณบางคนซึ่งเชื่อว่าบทบาทสำคัญของชุดอาบายา คือ การปกปิดรูปร่างของผู้หญิงให้มิดชิดต่างพากันบ่นว่า
“การปรับเปลี่ยนดีไซน์ชุดอาบายาให้ดูสมัยใหม่ขึ้นเพื่อดึงดูดความสนใจให้ผู้สวมใส่เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม”คำถามที่ว่า รูปแบบของชุดอาบายาจุะสามารถปรับเปลี่ยนได้มากน้อยเพียงไรจึงเป็นหัวข้อที่ยังโต้เถียงกันไม่จบ
อตุสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของชาวอาหรับทุกวันนี้ ได้รวบรวมบรรดาดีไซเนอร์ที่ไม่ใช่ชาวอาหรับเข้าไปด้วย เสื้อผ้าแบรนด์ดังจากต่างประเทศต่างพากันเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในวงการแฟชั่นของชาวอาหรับ แบรนด์ชั้นนำต่างๆ เช่น เบอร์เบอร์รี่ (Burberry), คาลวิน ไคลน์ (Calvin Klein), คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior), ดันฮิลล์ (Dunhill), และ จิวองชี่ (Givenchy) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแบรนด์นอกที่เข้ามาบุกตลาดตะวันออกกลาง
เป็นเรื่องปกติที่ชาวอาหรับอาจจะเปลี่ยนไปสวมเสื้อผ้าสไตล์ตะวันตกแทนชุดพื้นเมืองเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ แถมพวกเขายังมีความสามารถในการแปลงโฉมใหม่ในห้องสุขาแคบๆ บนเครื่องบินได้อย่างน่าทึ่ง ชนิดที่ว่าเมื่อออกมาจากห้องสุขาก็เปลี่ยนเป็นอีกคนจนคุณต้องตะลึง
อนาคตข้างหน้าไม่ว่ามุมมองเรื่องเสื้อผ้าของชาวอาหรับจะเป็นอย่างไรก็ตาม แฟชั่นยุคใหม่ของพวกเขากำลังท้าทายขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมมากน้อยแค่ไหน หรือเพียงแค่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ แฟชั่นของชาวอาหรับมีอะไรที่่มากกว่า
“ผู้ชายต้องสวมชุดขาว ส่วนผู้หญิงก็ต้องสวมชุดดำ”แน่นอน …
No comments:
Post a Comment