Like Our Post? Please Share!

Monday, July 23, 2012

เงินพลาสติก หายนะ ... ที่รอเวลา

ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์หาอาหารและสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตเท่านั้น ไม่ซื้อไม่ขาย ต่อมาหากอยากได้สิ่งใดเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่อความอยากหรือความจำเป็นก็ใช้วิธี "แลกเปลี่ยนกัน" เช่น พริกแลกเกลือ เนื้อสัตว์แลกเครื่องนุ่งห่ม แต่ความปรารถนาของมนุษย์เพื่อชีวิตที่ดีกว่ามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการเริ่มใช้วัตถุบางสิ่งเป็นตัวกลางในการกำหนดมูลค่าของสิ่งที่จะใช้แลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายกันนั่นเอง เช่น หอยเบี้ย หินสี เพื่อสร้างความยุติธรรม เพราะของแต่ละสิ่งย่อมมีค่าไม่เท่ากัน

ต่อมาสิ่งของที่นำมาใช้เป็นตัวกลางในการซื้อขายเริ่มมีวิวัฒนาการเป็น "เงิน" ที่ทำมาจากวัตถุที่คงทนถาวร มนุษย์จึงเลิกใช้การแลกสิ่งของมาเป็นการใช้เงินซื้อสิ่งของตามที่ต้องการ เช่น เงินพดด้วง (เงินโบราณ) หรือเหรียญเงินโบราณ เหรียญทองคำ อัญมณี

เมื่อมนุษย์สมัยใหม่ ก้าวหน้าจนเรียนรู้ที่จะค้าขายเพื่อทำกำไร จึงต้องมีกลไกหรือตัวกลางเชื่อมโยงให้ความสะดวกแก่ผู้ค้าขาย "ธนาคาร" จึงเกิดขึ้นเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินตอบสนองต่อความต้องการของพ่อค้าในยุคที่มนุษย์กำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ (มหภาค) คือ การค้าขายที่เชื่อมโยงกันไปทั่วโลก ทุกตำรา ทุกสถานศึกษากล่าวไว้ว่า
"ธนาคาร" คือ สถาบันหรือหน่วยงานที่ช่วยเหลือให้ความสะดวกหรือเป็นที่ปรึกษาทางด้านธุรกรรมการเงินให้ผู้ประกอบการจนประสบความสำเร็๗ในธุรกิจนั้นๆ เป็นกลไกสำคัญในการค้าขาย เศรษฐกิจของทุกประเทศและของโลกจึงขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของธนาคาร


เมื่อความก้าวหน้าของเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้นจนถึงจุดที่ธนาคารต้องปรับตัวเองจาก "ธุรกิจในครอบครัว" หรือ "กลุ่มคน" (ยุคเจ้าสัว) มาเป็น "มหาชน" จึงเกิดการระดมทุนเพราะต้องการเงินทุนจำนวนมากเพื่อสร้างหน่วยงานที่ใหญ่โตและแข็งแกร่งรองรับความเจริญเพื่อก้าวหน้าเข้าไปในทุกเครือข่ายธุรกิจทางการเงินด้วยการขายหุ้นธนาคารให้กับประชาชนทั่วไปที่ต้องการ ....

ทุกปีธนาคารจะประกาศผลกำไรนับพันล้านบาทและจะมี "เงินปันผล" (กำไรจากการประกอบการ) ให้กับผู้ถือหุ้นทุกราย ธนาคารใดที่ให้ "เงินปันผล" สูง ราคาหุ้นก็จะพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะผู้ซื้อหุ้นจะซื้อหุ้นที่มีค่าผลตอบแทนสูง ปัจจัยพื้นฐานดี อัตราเสี่ยงน้อย ซึ่งผู้บริหารและพนักงานก็จะได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้นด้วยตามผลกำไร จึงทำให้ทุกธนาคารเร่งทำทุกวิถีทางเพื่อสร้าง "กำไร" ให้ได้มากที่สุด

แม้จะหมิ่นเหม่ต่อคำว่า "ค้ากำไรเกินควร" เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคารสูงมาก "เงินพลาสติก" หรือ "บัตรเครดิต" จึงเข้ามามีบทบาทอย่างร้อนแรงในสังคมไทย เพราะหากผิดนัดชำระ อัตราดอกเบี้ยจะปรับสูงมากจากยอดค้างชำระ ธนาคารเล็งเห็นว่า
ดอกเบี้ยค้างชำระจากบัตรเครดิต คือ หนทางสร้างกำไรอย่างมหาศาล
ธนาคารจึงหาข้อมูลหรือจ้างสถาบันที่เชื่อถือได้สำรวจสังคมทุกระดับชั้นเพื่อหากลุ่มบุคคลที่ธนาคารเชื่อว่า ชนกลุ่มนี้ คือ ลูกค้าที่จะสร้างผลกำไรให้ได้มากที่สุดจากทุกกลุ่มชั้น ข้อมูลทุกการสำรวจชี้ชัดว่า คนกลุ่มนี้ คือ
คนหนุ่มสาววัยทำงานเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะชนกลุ่มนี้จะใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย ขาดการยับยั้งชั่งใจ ไม่ค่อยมีวินัยทางการเงิน ไม่สนใจเรื่องของดอกเบี้ย และประการสำคัญ คือ เมื่อเงินเดือนน้อย ถึงเวลาจ่ายค่าบัตรเครดิตก็มักจะจ่ายขั้นต่ำสุด
ส่วนชนชั้นที่ผ่านยุคหนุ่มสาวแล้ว ส่วนมากจะมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงจึงจ่ายครบจำนวนตรงเวลา ทำให้ธนาคารสร้างผลกำไรได้น้อยมากหรือแทบไม่ได้เลยจากชนกลุ่มนี้


เมื่อก่อนนี้ผู้ที่จะได้รับ "บัตรเครดิต" ธนาคารกำหนดว่า จะต้องมีรายได้มากพอที่ธนาคารเชื่อว่ามีความสามารถจ่ายคืนได้เมื่อใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าหรือบริการ เช่น กำหนดว่าต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือนธนาคารจึงจะอนุมัติ แต่กลุ่มคนหนุ่มสาวคือผู้ที่เพิ่งจะเริ่มต้นทำงาน เงินเดือนยังไม่สูงพอแต่กลับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะทำรายได้ให้ธนาคารได้มาก ธนาคารจึงต้องยอมลดข้อกำหนดลงเป็นเงินเดือน 10,000 กว่าบาทเท่านั้น ก็สามารถที่จะขอมี "บัตรเครดิต" ได้แล้ว
บัตรเครดิตนี้มีอัตราดอกเบี้ยค้างจ่ายสูงมากคือ 20% และกำหนดให้ต้องชำระคืนขั้นต่ำ 10%
ต่อมาธนาคารมองเห็นหนทางที่จะทำกำไรขึ้น จึงเสนอ "สินเชื่อส่วนบุคคล" โดยไม่ต้องมีการค้ำประกัน ออกบัตรให้กับผู้ที่ธนาคารเรียกว่า "ลูกค้าที่เชื่อถือได้" ส่วนมากก็คือลูกค้าที่ถือ "บัตรเครดิต" ของธนาคารนั่นเอง ถอนเงินสดได้ทันที 5 ครั้งต่อวัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 500 บาท โดยไม่มีค่าธรรมเนียมถอนเงินสด ไม่มีค่าธรรมเนียมบัตรรายปี แต่ใช้ซื้อของหรือชำระค่าบริการไม่ได้ และสามารถชำระคืนขั้นต่ำเพียง 2% ของยอดเงินเรียกเก็บค้างชำระในแต่ละรอบเดือน ส่วนอัตราดอกเบี้ยค้างจ่ายก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าบัตรเครดิตเลย คิดเป็นอัตราประมาณ 15% บางธนาคารอาจสูงถึง 28%

หากมองอย่างผิวเผินคงเป็นการดีที่ธนาคารใจดีให้เงินสดนำไปใช้ได้ก่อน ไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ แถมจ่ายขั้นต่ำสุดๆทุกเดือนเพียงแค่ 2% แต่หากศึกษาให้ดีจะพบว่า
  • ถ้าลูกค้านำเงินพลาสติกที่เรียกว่า "บัตรสินเชื่อส่วนบุคคล"
  • ไปเบิกเงินสดมา 100,000 บาท
  • อัตราดอกเบี้ยค้างจ่ายคือ 15%
  • ดังนั้นดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดคือ 41.09 บาทต่อวัน
  • หนึ่งวงรอบเรียกเก็บคือ 30 วัน
  • ดอกเบี้ยในหนึ่งวงรอบเรียกเก็บคือ 1,232.87 บาทต่อ 30 วัน
  • จ่ายขั้นต่ำงวดแรก (2%) เพียง 2,000 บาท
  • ลูกค้าจะจ่ายเงินต้นค้างชำระเพียง 767 บาท
  • เพราะอีก 1,232.87 บาทที่เสียไปนั้นเป็น ดอกเบี้ย ล้วนๆ
  • ถ้าเจ้าของสินเชื่อยังจ่าย 2,000 บาททุกงวดอย่างสม่ำเสมอโดยไม่กดเงินเพิ่ม จะต้องจ่าย 84 งวด หรือ 7 ปี จึงจะชำระหมด
  • โดยในระยะเวลา 7 ปี นั้น คิดเป็นดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายไปเสีย 68,000 บาท 
  • กู้เงินมา 100,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยไป 68,000 บาท คิดเป็นดอกเบี้ย 68% (ในระยะเวลา 7 ปี)
  • และ หากท่านจ่ายขั้นต่ำ (2%) จากยอดค้างชำระที่เรียกเก็บครั้งต่อๆไปทุกงวด คงต้องใช้เวลานานราว 10 ปี ....
  • ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงว่า ท่านต้องไม่กดเงินมาใช้เพิ่มอีกในตลอดระยะเวลา 10 ปี
คนกลุ่มนี้จึงตกเป็น "ทาสทางเศรษฐกิจยุคใหม่"
ผู้ใช้ "เงินพลาสติก" จะไม่รู้ตัวเลยว่า กำลังสร้างรายได้ให้กับธนาคารอย่างมหาศาล ธนาคารต้องการผลกำไรสูง ผู้ใช้บัตรที่ค้างชำระคือผู้สร้างรายได้ให้กับธนาคาร หากค้างชำระนานจนไม่สร้างรายได้ ธนาคารก็จะขาย "หนี้เสีย" ให้กับบริษัทที่รับทวงหนี้ในราคาถูก บริษัทก็จะออกทวงหนี้แบบหฤโหดตามข่าวทางหนังสือพิมพ์ที่มีให้อ่านกันบ่อยๆ ทำให้อับอาย เสียขวัญ หวาดกลัว ต้องดิ้นรนหาเงินมาชำระให้ได้ จนบางคนต้องไปกู้หนี้นอกระบบ ชีวิตยิ่งตกอยู่ในหายนะ ครอบครัวแตกแยกเดือดร้อน บางคนต้องติดคุกหรือถึงกับฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้ ...

"เงินพลาสติก" มีข้อดีแน่นอน แต่ก็มีข้อเสียแอบแฝง ผู้ใช้บัตรที่สามารถชำระคืนได้เต็มจำนวนเงินและตรงเวลา ย่อมไม่เกิดปัญหาใดๆ แต่หากว่าวันใดผู้ใช้บัตรเกิดเงินขาดมือ ความหายนะย่อมมาเยือนอย่างแน่นอน ยิ่งหากว่าไม่เรียนรู้ถึงข้อดีและข้อเสีย ยิ่งมีโอกาสพลาด ยิ่งจ่ายขั้นต่ำ ชีวิตยิ่งถลำลึกจนยากที่จะแก้ไข ชีวิตหรือครอบครัวกำลังร่วงหล่นสู่ความเป็นทาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งใช้เวลานานนับปีจึงจะหลุดพ้น ... ถ้าโชคดีทำได้ ....

ในขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกามีประชาชนนับหมื่นคนชุมนุมประท้วงที่ย่านการเงินวอลล์สตรีทแล้วลุกลามไปทั่วตามหัวเมืองใหญ่ๆ ประณามธนาคารที่กอบโกยสร้างผลกำไรมากมายมหาศาลอย่างไร้มนุษยธรรมบนความทุกข์ยากของประชาชนที่ตกงานและไร้ความมั่นคงในหน้าที่การงานในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

ดังนั้น ... ชนชั้นกลุ่มคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน จึงต้องควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด
  • ใคร่ครวญให้ดีก่อนที่จะใช้เงินพลาสติกอย่างไม่ยั้งคิด
  • ไตร่ตรองถึงความต้องการในสินค้าหรือบริการว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจริงๆหรือไม่
  • สิ่งใดฟุ่มเฟือยต้องเลิกซื้อ
  • สร้างวินัยทางการเงินให้เป็นนิสัย
  • จ่ายคืนให้เต็มจำนวนและตรงต่อเวลา
  • อย่าค้างจ่ายโดยเด็ดขาด
  • หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ... ต้องค้างจ่ายให้น้อยที่สุด
  • ค่อยๆ ปลดภาระหนี้ค้างจ่ายให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • ไม่สร้างภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นด้วยในระหว่างที่กำลังปลดภาระหนี้เก่าอยู่
  • บัตรเครดิตใดที่ไม่ค่อยได้ใช้ให้ตัดทำลายทิ้งทันที ดีกว่าพกไว้ยั่วใจให้ซื้อของ
หากท่านมีวินัยทางการเงินหายนะทางการเงินก็จะไม่เกิดขึ้นกับท่านอย่างแน่นอน

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...